Saturday, October 08, 2005

Ear damage due to loud noise

เสียงดัง ทำให้ หูพัง อย่างไร?
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ ทรงแสดงความห่วงใยว่า บรรดามลพิษเสียง จากดนตรีในสถานบันเทิง อาจทำให้เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ กลายเป็นคนหูเสีย หูหนวก หูตึงไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยว่า การได้ยินของพสกนิกรวัยเยาวชนจะเสื่อมโทรมลง
ข่าวอินเตอร์เน็ตบีบีซี ได้เสนอข่าวเผยแพร่คำเตือนประชากรโลกถึงเรื่องมลพิษทางเสียงไว้หลายครั้งในรอบห้าเดือนของปีที่แล้ว ว่าเป็นภัยที่คุกคามไปทั่วโลก ที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนจะสายเกินไป ที่น่ากลัวมากคือคำเตือนว่า “ฟังดนตรีดังๆ ทำให้ปอดพังได้” ( Loud Music Lung Collapse Warning )
สำนักข่าวบีบีซี ย้ำว่า ดนตรีเสียงดัง ทำให้ประสาทหูสูญเสียการได้ยิน (หูตึง หูหนวก) แต่อันตรายที่ร้ายแรงกว่าคือ ทำให้ปอดล้มเหลว เสียชีวิตได้ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า อาการ “นิวโมโธแรกซ์” ( Pneumothorax )
นายแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคนี้ กล่าวว่า คนที่เป็นโรคปอดล้มเหลวนี้ ฟังเพลงในรถที่ติดตั้งลำโพงที่มีกำลังหนึ่งพันวัตต์ แรงกระแทกของเสียงทุ้มทำให้ ช่องว่างระหว่างปอด กับเยื่อหุ้มปอด เกิดรูโหว่ เนื่องจากคลื่นเสียงจากลำโพงกำลังสูง ทะลวงเข้าไปในร่างกายได้
เสียงทุ้มหรือเสียงเบส เป็นเสียงดนตรีที่มีความถี่ต่ำ เป็นคลื่นเสียงที่มีแรงผลักแรงดันมหาศาล ทำให้เยื่อหุ้มปอดพองตัวและแฟบอย่างรวดเร็ว เป็นอาการคล้ายคนสูบบุหรี่นานๆจน เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือคล้ายการเสพยาโด๊บ
คนไข้วัย ๒๕ปีคนหนึ่ง เกิดอาการปวดหน้าอกอย่างรุนแรง เพราะไปยืนอยู่หน้าลำโพงที่ส่งเสียงกระแทกกระทั้น อีกคนอายุ ๒๓ ปอดล้มเหลว ขณะยืนฟังป๊อปคอนเสิร์ตอยู่หน้าลำโพง
มีข่าวอีกชิ้นหนึ่งเตือนให้ “ระวังหูเสียในช่วงเทศกาล “ “สถาบันหลวงแห่งชาติสำหรับคนหูหนวก” ( Royal National Institute for Deaf People-RNID) แห่งประเทศอังกฤษ เตือนว่า ช่วงเทศกาลต่างๆ มักมีการใช้เครื่องขยายเสียงกำลังสูง ดังแสบแก้วหู จะมีเสียงทุ้มที่มีกำลังกระแทกมาก และยืนยันว่า การฟังเพลงเสียงดังนานๆ ขั้นเบาะๆ ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ และจะนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน กลายเป็นคนหูพิการ ( หูตึง หูหนวก หูอึง หูแว่ว หูเสื่อม) ในที่สุด
...................................
เรียบเรียงจาก ‘ ระบบเสียงดังทำให้ “หูพัง” อย่างไร’ ใน ยลยินอินเตอร์เน็ต โดย “รจนโรจน์“ นิตยสาร สกุลไทยต้นปี ๔๘
ท่านควรเอาใจใส่ปกป้องหูของท่านและบุตรหลานของท่าน ระมัดระวังหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในที่เสียงดังนานๆ เช่นโรงภาพยนต์ ศูนย์การค้าที่มีเสียงดังมากๆ ตักเตือนบุตรหลานอย่าเปิดทีวีเสียงดัง อย่าใช้โทรศัพท์มือถือ และใส่หูฟังติดต่อกันนานๆ เพราะประสาทหูของคนเรา ไม่ได้ถูกออกแบบให้ทนทานเสียงดัง การฟังเสียงดังมากๆ เช่นเสียงเจาะผนัง เจาะถนน ซึ่งความดังเท่ากับ 100 เดซิเบล หูของท่านจะเสื่อมภายในหนึ่งชั่วโมง เสียงดังในดิสโก้เทค 110 เดซิเบล หูจะเสื่อมในเวลาเพียงสี่นาที หากไม่กลายเป็นคนหูตึง ก็จะเป็นโรคหูอึง และเมื่อประสาทหูตายแล้ว ไม่มีทางรักษา ทำให้ทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต
มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ห้องนอน เสียงไม่ควรเกิน 30 เดซิเบล
สวนสาธารณะ ที่อยู่อาศัย สถาบันการศึกษา และห้องเรียน ไม่ควรเกิน 50 เดซิเบล ถนนใหญ่ ไม่เกิน 70 เดซิเบล คนที่อาศัยในย่านพาณิชยกรรม และริมถนนที่มีเสียงดัง 70 เดซิเบล ตลอดเวลา จะสูญเสียการได้ยินในยี่สิบสี่ชั่วโมง
โปรดทราบ เสียงดัง 80 เดซิเบล จะมีความดังมากกว่า 70 เดซิเบลถึงสิบเท่า
ร้องทุกข์เสียงดัง ที่ 1555 กทม , 1650 กรมควบคุมมลพิษ, 191
และสถานีตำรวจในท้องที่

เผยแพร่โดย
- ชมรมคนรักความเงียบ
- Tinnitus Awareness Society Thailand for Quality of Life (TAST).
- โครงการ ‘รวมใจ รวมไทย ต้านภัยเสียง ’ ดำเนินการโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย www.tei.or.th/cef

0 Comments:

Post a Comment

<< Home