Saturday, October 22, 2005

Speak Less, Understand Less


พูดกันน้อยลง เข้าใจกันน้อยลง เพราะ หูตึง มากขึ้น
“สีลม”
บรรดานักดนตรีร็อคที่เรียก “คาร์ลอส ซานตานา” อย่างสนิทใจว่า “พ่อ” ต่างพร้อมใจกันออกมา รำลึกถึงอดีต ดูผิวเผินพวกเขาเหล่านั้นยังคงความเป็นร็อคเกอร์อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่กางเกงหนังรัดรูป เสื้อรัดรูปลายฉวัดเฉวียน ผมยาวประต้นคอที่ย้อมสีมาอย่างดี เข็มขัดตอกหมุด บู้ตส้นสูง กำไลเงิน ฯลฯ ครบสูตร
แต่ลองเข้าไปแอบฟังการสนทนาของร็อคเกอร์รุ่นใหญ่ ๓ คน อาจเป็นอย่างนี้ก็ได้
ร็อคเกอร์หมายเลข๑ “ เฮ้ยเพื่อน หมู่นี้หูฉันมันไม่ค่อยได้ยินอะไรเลยว่ะ “
“ ๒ “ หา ……..นายว่าไงนะ”
“ ๓ “ นี่ นายสองคนคุยอะไรอยู่น่ะ”
เหตุการณ์จำลองนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลความจริงเท่าไร เพราะวงการแพทย์ได้พิสูจน์มานานเกือบสองทษวรรษแล้วว่า เสียงแผดทั้งแหลมและทุ้มปานฟ้าถล่มของดนตรีร็อค ที่พวกเราฟังกันมาอยู่หลายปีดีดักอย่างเมามันในอารมณ์นั้น มีอันตรายถึงกับทำให้สูญเสียการฟังไปเลย
ดังที่ John Flansburgh แห่งวงร็อค คณะ They Might Be Giants เคยกล่าวทีเล่นที่จริงว่า “หูหนวกคือการเสียสละเล็กน้อยที่เราจะต้องมอบให้ดนตรีร็อค !”
อีกไม่กี่ปี ดนตรีร็อคก้จะฉลองครบรอบห้าสิบปี นับตั้งแต่ Bill Haley and the Comets นำเพลง “ Rock Around the Clock” ขึ้นสู่อันดับหนึ่งของบิลบอร์ด และทำให้เกิดคำว่า” rock ‘n’ roll” ดนตรีร้อคได้พัฒนาแตกแยกเป็นหลายสาขาหลายแนว ศิลปินร็อคเกิดและดับไปหลายคน
แต่ที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ ดนตรีร็อคควบคู่กับความ”ดัง” อยู่เสมอมา และความ”ดัง”นี้ กำลังสำแดงตนให้เห็นว่า มันได้ ทำให้นักดนตรีร้อคหูพิการไปแล้วหลายราย ไม่เฉพาะแต่นักดนตรีเท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องอยู่กับความดังของเสียงเหล่านี้มานานอย่างบรรดาชาว ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ เช่น Sir George Martin โปรดิวเซอร์มือทองผู้ทำให้ The Beatles โด่งดังทะลุฟ้า ตอนนี้ ก็หูดับสนิทแล้ว เขาเพิ่งให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้ว่า มันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายที่คนนึกว่า เขาเริ่มเลอะเลือน เพราะเวลาคนพูดด้วย เขาจะไม่ได้ยิน “ความจริงสติสตังผมยังดีอยู่ทุกอย่าง แต่หูผมไม่ดี เวลาไปงาน คนจะมาพูดด้วย ผมได้แต่ยิ้มเฉยๆ คนก็เลยนึกว่าผมเลอะซะแล้ว”
นักดนตร็อคหลายคน ปัจจุบันกำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคที่เรียกว่า Tinnitus คือรู้สึกเหมือนมีเสียงรถวิ่งดังอยู่ในหูตลอดเวลา
นักดนตรีรุ่นเก่าอย่าง Lenny Kaye มือกีต้าร์แห่ง Patti Smith Group ก็บอกว่าตอนนี้ สูญเสียประสาทรับฟังไปแล้ว และต้องใช้เครื่องมือช่วยฟังตลอดเวลา
เมื่อประมาณสิบปีก่อน ขณะที่นักดนตรีร็อคเริ่มรับรู้ถึงมหันตภัยที่มากับเสียงดนตรีที่พวกเขาคลุกคลีอยู่ด้วยทุกเมื่อเชื่อวัน Kathy Peck ร็อคเกอร์หญิงแห่งย่าน Bay Area ในซานฟรานซิสโกได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า HEAR มีชื่อเต็มๆว่า hearing Education Awareness for Rockers ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้และเตือนบรรดาศิลปินร็อคทั้งหลายถึงอันตรายที่มากับเดซิเบลสูงของดนตรีร็อค พวกที่เข้าข่ายจะได้รับอันตรายจากภัยนี้ รวมไปถึงพวกช่าง และพวกทำงานในคอนเสิร์ตฮอลล์ และบรรดาแฟนๆคอนเสิร์ตร็อคทั้งหลาย ก็ไม่มีละเว้นด้วย
ภัยจากเสียงก้องกัมปนาทของดนตรีร็อค เป็นภัยมืดที่ร้ายแรงเกินกว่าเราจะนึก เสียงของดนตรีที่ดังเกินกว่า ๑๐๐ เดซิเบล จะทำให้ขนอ่อนในหูเราแบนราบ และเปิดทางให้เสียงเดินทางเข้าสู้เส้นประสาท โดยปกติขนอ่อนนี้จะคลายสภาพกลับเหมือนเดิม แต่หากโดนเสียงดังกระแทกกระทั้นรูหูบ่อยๆ ขนอ่อนที่มีไว้ปกป้องประสาทส่วนใน ก็จะเสียสภาพความยืดหยุ่นตลอดไป
แต่อันตรายที่มากกว่าการไปฟังเพลงร็อคเสียอีกก็คือ การใช้หูฟังสเตอริโอติดกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อย่างที่วัยรุ่นสมัยนี้นิยมกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องหูที่ Columbia Presbyterian Center ที่กรุงนิวยอร์ค เลยเปรียบเทียบการใช้ว้อล์คแมนแล้วเปิดเพลงดังๆว่า “มันเหมือนกับการเอาท่อดับเพลิง ยัดลงไปในรูหูนั่นแหละ”
แต่ดูเหมือนว่า ศิลปินร็อคและผู้เกี่ยวข้องกับวงการนี้ เริ่มมีการป้องกันภัยมหากาฬจากเสียงดนตรีร็อคอย่างรัดกุมมากขึ้น หากคุณลองไปฟังคอนเสิร์ตรอคสมัยนี้ จะเห็นว่านักดนตรีทั่วไปไม่ยืนอยูหน้าแอมพลิฟลายที่กองสุมเหมือนภูเขาอย่างแต่ก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้แอมพลิฟลายจะถูกผลักไปด้านข่างเวที(ใกล้คนดูนั่นแหละ !) แต่ถ้าเป็นโปรโมเตอร์เจ้าดังๆที่เห็นใจคนดู จะแขวนพีแอลลงมาจากเพดานเพื่อให้เสียงกระจายไปทั่วๆ
ดูเหมือนว่าร้อคคอนเสิร์ตในปัจจุบัน จะปกป้องหูนักดนตรีไว้เป็นอย่างดี เสียงที่นักดนตรีได้ยินจะมาจากมอนิเตอร์ที่ดังอยู่ในระดับพอสมควร ปล่อยให้คนดูรับฟังเสียงก้องกัมปนาทเพื่อความมันสะใจไปเต็มๆ
นอกจากนี้แล้ว บรรดานักดนตรีร็อครุ่นใหม่ที่ได้เห็นผลพวงจากการอยู่กับเสียงดังๆมานาน ยังหาเครื่องป้องกันหูตัวเองด้วยการสวมที่ต้านเสียงระหว่างการซ้อมหรือแม้แต่เวลาแสดงจริง Bill Graham โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคซิกซ์ตี้ส์ เคยพกที่อุดหูไว้เป็นกล่องๆ แล้วไล่แจกทุกคน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปจนถึงเด็กยกเครื่อง
ส่วนผู้ที่ชอบฟังดนตรีร็อคอยู่กับบ้าน วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่หูนั้นทำได้ง่ายมาก คือ หรี่โวลุ่มลง เท่านั้นเอง และอย่าใช้หูฟังติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
ผู้เขียนเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน รู้สึกว่าการฟังเพลงร็อคแบบกลัวๆกล้าๆ ไม่เปิดโวลุมไปเกือบถึงเลขสิบนั้น มันไม่สะใจเอาเสียเลย มิหนำซ้ำยังเคยทำงานกับค่ายเพลงที่เป็นเจ้าชองสโลแกน “เปิดดังๆ ฟังมันกว่า” ทำเป็นสติ๊กเกอร์ปิดไว้บนเท้ปทุกตลับเสียด้วย
แต่วันนี้ ต้องขอบคุณฟ้าดินที่ยังเมตตาให้หูได้ยินได้ฟังเสียงไพเราะของดนตรีอันสวยงามในโลกนี้ต่อไปได้
ทำให้ซึ้งถึงความจริงว่า”เปิดดังๆ ฟังมันกว่า” มันอาจจะไม่คุ้มหรอกน้อง

เผยแพร่โดย Tinnitus Awareness Society Thailand

0 Comments:

Post a Comment

<< Home