Tuesday, April 11, 2006

iPod Warning: Matichon Weekly Magazine

ใช้ไอพอดระวังหูหนวก
เมื่อเวลาที่เราคิดถึงอันตราย อันดับแรกเราคิดถึงอุบัติเหตุใช่ไหมเอ่ย แล้วต่อมาเราคิดถึงอะไรกันนะ มองหน้ากันเลิ่กลั่กเล็กน้อยแล้วก็มีคำตอบต่างกัน

บางคนตอบว่าโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงเช่นมะเร็ง บางคนบอกว่ามลพิษที่อยู่รอบๆตัว สารตะกั่วบ้าง อากาศเสีย น้ำเสีย เคมีต่างๆ บางคนเจอหน้ากันพูดแต่เรื่องแอสเบสตอส สารที่อยู่ในฝ้าเพดาน บอกว่าเป็นอันตรายนะ ไปตรวจดูสิว่าบ้านเธอใช้ฝ้าเพดานที่มีแอสเบสตอสหรือเปล่า

บางมลพิษ มันใช้เวลาในการปล่อยพิษ เราเลยไม่ค่อยรู้ตัว อย่างเช่นมะเร็ง รู้อีกทีก็ขั้นสามสี่ แก้ยากใช่ไหมคะ มลพิษอีกอย่างที่ชักจะกำเริบใหญ่คือมลพิษเสียงค่ะ เคยอยู่ในที่เสียงดังๆแล้วเหนื่อยไหมคะ แล้วเที่ยบกับไปอยู่ในที่เงียบอย่างมุมในโรงแรม หรือในสวนที่เงียบสงบ (สวนสาธารณะเดี๋ยวนี้เช้าๆกระจายเสียงจากวิทยุทุกเช้า ไม่รู้ไปเอาไอเดียเซี้ยวๆแบบนี้มาจากไหน น่ารำคาญเป็นที่สุด) มันวิเศษสุดไหม

โลกเราทุกวันนี้ หาที่เงียบไม่ได้แล้ว ลองแข่งกันหาไหมล่ะคะ หายากจริงๆ เพราะคนไทยขี้เหงา ชอบความสนุกสนาน ย้ายไปอยู่บางประเทศอย่างสวีเดนโน่นสิคะ มีที่เงียบ ๆและสะอาดเยอะ แต่พูดไปจะทำได้กี่คนล่ะคะ

ศิลปินที่รักความเงียบ เพราะความเงียบทำให้มีสมาธิ สร้างสรรค์งานได้ คุณปานชลี สถิรศาสตร์ เธอเป็นทุกข์กับการคุกคามของเสียง ไม่ใช่เราๆไม่ทุกข์นะคะ แต่เธอค่อนข้างจะทุกข์มากกว่า เพราะเธอมีปัญหาเรื่องหูอึง ก็เกิดจากเสียงดังนี่แหละค่ะ

ในอเมริกา มีวิจัยออกมาว่าเด็กวัยรุ่นครึ่งประเทศมีปัญหาเรื่องการได้ยินเพราะการฟังเอ็มพี 3 ทำให้สมาคมที่ต่อต้านปัญหามลพิษเสียงและการได้ยินออกมาเตือนคนเรื่องการใช้เอ็มพี 3 สมาคมนี้มีชื่อว่า ASHA ( an association specializing In auditory and cognitive problem) เขาบอกว่าในปี 2005 iPod มียอดขายถึง 22 ล้านเครื่อง และทุกเครื่องที่ขายไม่มีคำเตือนว่าการใช้ iPod อาจเป็นอันตรายต่อการได้ยิน สมาคมนี้ออกมาให้ความรู้ว่าหากเสียงดังมากกว่า 115 เดซิเบลทุกวันยาวนานกว่า 28 วินาทีแล้วละก็ มีสิทธิ์หูหนวกถาวร

เสียงนี่มันมีระดับเสียง เรียกว่าเดซิเบลค่ะ การได้ยินเสียงดังที่มีเดซิเบลสูงๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานทำให้การได้ยินบกพร่องและถึงขนาดหูหนวกได้ เมื่อปีใหม่ปีที่แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกมาเตือนว่าสถานเริงรมย์อย่าเล่นดนตรีกันดังนัก เด็กวัยรุ่นหูเสียกันหมด

เราคงลืมกันไปแล้ว

เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากสมาคม ASHA ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบอย่าง Apple ก็ขานรับทันที เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาก็ได้วางตลาดโปรแกรมที่ใช้ควบคุมระดับเสียงในเครื่องเล่น iPod โปรแกรมนี้สามารถดาวน์โหลดได้จากเวบไซท์ของแอปเปิ้ล และเข้าไปควบคุมระดับเสียงของ iPod Nano และ iPod รุ่นใหม่ โดยเซทเป็น maximum ไว้ มีโค๊ดลับที่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปปรับระดับเสียง และคุณหนูเปลี่ยนระดับไม่ได้

บรรดาผู้ที่อยู่ในสมาคมได้พบว่าถ้าไม่ใช้โปรแกรมลดระดับเสียงแบบนี้แล้วไซร์ เสียงจาก iPod นี่สามารถแผดได้ถึง 115 เดซิเบล ซึ่งดังเท่ากับเสียงเลื่อยไฟฟ้าในโรงงานอุตสหกรรม

พิษสงของเสียงพวกนี้ขนาดไหน ผู้เขียนพลันนึกถึงเสียงจากหน้าบ้าน ซึ่งเขารับงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมมาทำ เสียงเลื่อยกับสว่านไฟฟ้าดังขึ้นปุ๊ป ก็ไม่มึความสุขเล้ย รีบหาเรื่องออกไปนอกบ้านให้พ้นๆ ก่อนหูจะเสีย และเกิดอาการเครียด

ผู้เขียนว่าเราน่าจะสร้างการรับรู้เรื่องพิษภัยของเสียงกันให้มากกว่านี้ เพราะมันเป็นภัยร้ายชนิดหนึ่งทีเดียว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายน่าจะช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กทม สสส กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียน

ผู้เขียนเคยเข้าไปออกกำลังในสวนรถไฟ โผล่เข้าประตูไปก็พบกลุ่มกิจกรรมพร้อมเครื่องขยายเสียงหนึ่งกลุ่มแรก เดินหลบลึกเข้าไปเจอกลุ่มที่สอง มีเครื่องขยายเสียงเหมือนกัน ดีหน่อยหันเครื่องเข้าในกลุ่ม ไม่หันออกมาที่ลู่ขี่จักรยานเหมือนกลุ่มแรก หลบไปอีก เอ้าใกล้ทางออกเจออีกกลุ่มค่ะ เป็นครูมาทำกิจกรรมกับนักเรียน

ปรากฏการณ์ใช้เครื่องขยายเสียงในสวนสาธารณะนี่น่าจะมีแต่เฉพาะในเมืองไทยนะคะ ไม่เคยพบที่ไหน

เรื่องปีใหม่ ชาวบ้านติดเครื่องขยายเสียง เอื้อเฟื้อเสียงดังและความบันเทิงอันไม่พึงปรารถนาไปยังเพื่อนบ้านด้วยนั้น นับเป็นเรื่องธรรมดา ใครมีที่หลบลี้หนีภัยเสียงได้ก็หลบไป ตัวใครตัวมัน ผู้เขียนเคยฟังสี่วันสี่คืนติดต่อกัน โดนแบบนี้ความคิดอยากย้ายบ้านเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ได้ไปแจ้งความให้ตำรวจไปปราม

คิดว่าน่าจะด้วยเหตุนี้ ปีถัดมาเสียงก็ลดลง

ในประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายห้ามเสียงดัง ทำให้แอปเปิ้ลต้องควบคุมเสียง iPod ให้อยู่ในระดับ 100 เดซิเบล ตั้งแต่ปี 2002

คนที่ต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอดในฝรั่งเศสบอกว่า พอใจที่แอปเปิ้ลยอมรับว่าเสียงจาก iPod เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ไม่พอใจที่ไม่สามารถแก้ไขเครื่องที่คนซื้อไปแล้วรุ่นก่อนๆได้

แค่นี้ก็ดีถมไปแล้วจ้า

มติชนสุดสัปดาห์

หมุนตามโลก

เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

0 Comments:

Post a Comment

<< Home