Saturday, April 14, 2007

อิ ส ร ภ า พ ท า ง หู

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ตีพิมพ์ในนิตยสาร Health & Cuisine
ฉบับที่ 75 เดือนเมษายน 2550


บทนี้ ขอเริ่มด้วยคำถามว่า “ความเงียบเป็นศัตรูที่ต้องปิดกั้น ส่วนเสียงเพลงเป็นเพื่อนที่ขาดไม่ได้ จริงหรือ”

มีเพื่อนๆ 5 - 6 คน ที่นัดพบกันเพื่อชิมอาหารกลางวัน เราผลัดกันเลือกร้านอร่อยๆ ไปนั่งคุยกันสบายๆ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิดเห็น แล้วแยกกันไปอย่างอุ่นใจ จนกระทั่งพบกันครั้งใหม่

ในจุดมุ่งหมายการนัดพบเราคือรสชาติอาหารกับการสนทนา จึงพยายามเลือกร้านที่เปิดเพลงเบาๆ หรือไม่เปิดเลย ประเภทไม่เปิดเลยนี่หายากได้ยากขึ้นทุกวัน ถ้าผู้อ่านท่านไหนรู้จักช่วยแนะนำด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

เคยได้ยินมาว่า วัฒนธรรมการเปิดเพลงดังลั่นจนกลบความคิด เริ่มมาจากเทคนิคของร้านอาหารบางประเภทในประเทศตะวันตกที่ต้องการให้ลูกค้าหมุนเวียนเร็ว เพราะดนตรีที่ดังและจังหวะแรงเร้า มีผลทางจิตวิทยาให้กินเร็ว ลุกเร็ว ไม่อ้อยอิ่งให้เปลืองที่นั่ง จะคุยกันให้เสียเวลากินก็ต้องตะโกนเอา ตะโกนได้ไม่กี่น้ำก็ยอมแพ้กันไปเอง

นอกจากนั้นแล้ว การดึงการรับรู้ทั้งหมดมาไว้ที่ประสาทหู ทำให้รสอาหารไม่จำเป็น ต้องละเมียดละไมนัก

ช่างเป็นวัฒนธรรมการกินที่เป็นลบอย่างยิ่งต่อทั้งระบบย่อย ประสาทหู และรสสัมผัส ร้านอาหารบ้านเรารับมันมาทั้งดุ้นโดยอาจไม่รู้ที่มา หลายร้านที่ติดลำโพงไว้ทั่ว ไม่ให้คนกินหนีเอาหูไปหลบได้ที่มุมไหน

ถึงแม้ชอบดนตรี ชอบเพลง ชอบดูหนัง แต่ข้าพเจ้าไม่ใช้วอล์คแมน ไม่ต่อสายไอพ็อดเข้าหู ไม่เหงาเมื่ออยู่คนเดียวโดยไม่เปิดเพลงหรือโทรทัศน์ ความเงียบให้โอกาสพักหู ให้ได้ยินเสียงธรรมชาติ ได้อยู่กับตัวเองกับสิ่งรอบตัวอย่างไม่ต้องมีสื่อภายนอกมานำพาอารมณ์ และจะไม่เปิดเครื่องเสียงในรถเวลาขับผ่านทิวทัศน์ที่งดงาม เพราะพบว่าความเงียบช่วยให้ซึมซับความชื่นบานจากปัจจุบัน ตรงนั้น เดี๋ยวนี้ ได้อย่างวิเศษสุด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู และกายสัมผัส

ไม่กี่วันมานี้ได้คุยกับคนที่บอกว่าเคยติดเพลงอย่างหนัก ประเภทขาดไม่ได้ตั้งแต่วัยรุ่น มาช่วงหนึ่งที่ย้ายบ้าน ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่มีเวลาตั้งเครื่องเสียงอยู่ถึง 3 ปี เธอก็แปลกใจตัวเองที่สุขไปอีกแบบ เพราะเริ่มสังเกตรายละเอียดของเสียงรอบตัวที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน จนคุ้นเคยและรู้ค่าของความเงียบ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ รู้สึกว่ามั่นคงในตัวเองมากขึ้น

เมื่อติดตั้งเครื่องเสียงและมีเสียงเพลงในบ้านอีกครั้ง เธอก็รู้สึกเหมือนได้เพื่อนเก่ากลับมา แต่เป็นเพื่อนที่รู้จักพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม เรียกว่าเป็นเพื่อนที่ให้อิสรภาพ ไม่ใช่เพื่อนที่พันผูกเธอไว้จนขาดไม่ได้
หลายคนใช้เพลงพากลับไปอดีตที่มีความสุข เพลงเลยกลายเป็นสายใยพันใจไว้กับความทรงจำที่หมดความเป็นจริงไปแล้ว ถ้าความทรงจำนั้นเป็นกำลังใจให้ก้าวไปในปัจจุบันอย่างงดงาม ก็วิเศษ

แต่ถ้าเป็นความทรงจำที่ทำให้โหยหาไม่รู้จบ เพลงนั้นก็เหมือนสายน้ำวนที่พัดพาเป็นเกลียวอดีตลึกลงๆ จะปีนกลับขึ้นหาพลังของปัจจุบันได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนสิ่งดีๆ อีกหลายๆ อย่างในโลกนี้ ชีวิตนี้ เสียงเพลงไม่ควรจะกลายเป็นสิ่งเสพติดที่ ‘ขาดไม่ได้’

มนุษย์เราถ้าขาดสิ่งใดไม่ได้ ก็เท่ากับสูญเสียอิสสระภาพทางใจให้สิ่งนั้น